โอห์มมิเตอร์
การวัดค่าความต้านทาน
เราสามารถหาค่าความต้านทานของตัวต้านทานหรือตัวอุปกรณ์อื่นๆ ได้โดยใช้กฎของโอห์มมาคำนวณหาค่าความต้านทาน

ใช้วิธีวัดแรงดันไฟฟ้าในวงจรที่ต้องการหาค่าด้วยโวลต์มิเตอร์ และใช้วิธีวัดกระแสไฟฟ้าในวงจรที่ต้องการหาค่าด้วยแอมมิเตอร์ นำค่าที่วัดได้จากมาตรวัดทั้งสองไปคำนวณหาด้วยสูตรกฎของโอห์ม

โครงสร้างโอห์มมิเตอร์เบื้องต้น
โอห์มมิเตอร์เป็นมาตรวัดที่ถูกดัดแปลงมาจากมาตรวัดพื้นฐานจำพวกดาร์สันวาล์มิเตอร์ หรือดีซีแอมมิเตอร์ ทำให้สามารถวัดค่าและแสดงค่าการวัดออกมาเป็นค่าความต้านทานโดยตรง

โครงสร้างโอห์มมิเตอร์เบื้องต้น ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ดีซีไมโครมิเตอร์ แบตเตอรี่ และตัวต้านทานปรับค่าได้ ส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนต่อร่วมกันแบบอนุกรม

การหาสเกลโอห์มมิเตอร์
โอห์มมิเตอร์สร้างขึ้นจากดีซีแอมมิเตอร์ การปรับเปลี่ยนสเกลของดีซีแอมมิเตอร์ให้เป็นสเกลของโอห์มมิเตอร์ ทำได้โดยการกำหนดค่าความต้านทานหลายๆ ค่า จากน้อยไปหามากตามลำดับ

นำไปต่อเข้าที่จุดต่อวัดขั้วบวก และขั้วลบ ของโอห์มมิเตอร์ที่ปรับแต่งให้พร้อมใช้งานแล้ว และใช้กฎของโอห์มคำนวณหาค่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านดีซีแอมมิเตอร์
การใช้งานโอห์มมิเตอร์
โอห์มมิเตอร์จะมีย่านปรับวัดค่าความต้านทานหลายย่านวัด ตั้งแต่ย่านวัดค่าความต้านทานต่ำเป็นโอห์ม ไปจนถึงย่านวัดค่าความต้านทานสูงเป็นเมกโอห์ม

โดยมีสเกลแสดงค่าความต้านทานที่วัดได้เพียงสเกลเดียว ค่าที่อ่านได้จะมีความถูกต้องเป็นค่าความต้านทานจริง

เครื่องวัดความต้านทานแบบบริดจ์
วีตสโตนบริดจ์ เป็นวงจรบริดจ์ไฟฟ้ากระแสตรงที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัดค่าความต้านทานที่ไม่ทราบค่า ด้วยหลักการทำงานของวงจรบริดจ์สมดุล

โดยการเปรียบเทียบความต้านทานที่ไม่ทราบค่ากับความต้านทานมาตรฐานทราบค่าที่ปรับเปลี่ยนค่าได้ เพื่อทำให้วงจรบริดจ์อยู่ในสภาวะสมดุล
เมกโอห์มมิเตอร์
เป็นโอห์มมิเตอร์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้วัดค่าความต้านทานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีค่าความต้านทานสูงมากเป็นเมกโอห์มขึ้นไป หรือไว้สำหรับวัดความเป็นฉนวนของฉนวนไฟฟ้าที่นำมาใช้งาน

เมกโอห์มมิเตอร์ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง แม่เหล็กถาวร แกนเหล็กรูปวงแหวน ขดลวดแรงดันไฟฟ้า ขดลวดกระแสไฟฟ้า และตัวต้านทาน